Wednesday, November 29, 2006

ร้องรัฐผลิตยาเอดส์ติดสิทธิบัตรทุกขนาน

ผู้จัดการออนไลน์ 15 กรกฎาคม 2547

กลุ่มศึกษาปัญหายาและภาคีเครือข่ายเอ็นจีไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการจัดหายาต้านไวรัสเอดส์ให้กับผู้ติดเชื้อทุกคนอย่างจริงจัง แนะรัฐบาลไทยใช้มาตรการ “บังคับใช้สิทธิ” ผลิตยาที่ติดสิทธิบัตร แก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรให้ไทยผลิตยาที่ติดสิทธิบัตรได้ทุกขนานเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ และต้องไม่รวม “ยา” ในการเจรจาทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหรัฐ เพราะจะก่อให้เกิดการผูกขาดตลาดของยาต้นแบบ

ผศ.ภญ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล ประธานกลุ่มศึกษาปัญหายา กล่าวว่า กลุ่มศึกษาปัญหายาและภาคีเครือข่ายสมาชิก ประกอบด้วยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย (คอท.) คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์และกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จัดทำนโยบายและดำเนินการอย่างจริงจังในการจัดหายาต้านไวรัสเอดส์ให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคน ตามคำประกาศสัญญาของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อสังคมโลกในการเปิดประชุมเอดส์โลกเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อที่นายกรัฐมนตรีจะไม่ถูกสังคมโลกประณามว่า หลอกลวงและเพื่อรักษาภาพพจน์ของประเทศไทยในการเป็นประเทศแนวหน้า ในการจัดหายาต้านไวรัสเอดส์ให้กับผู้ป่วยทุกคนได้ พร้อมทั้งเอื้อเฟื้อให้กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นผลสำเร็จ

ทั้งนี้ แถลงการณ์ของกลุ่มศึกษาปัญหายาและภาคีเครือข่ายระบุว่า รัฐบาลต้องรีบดำเนินการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licence) กับยาที่ติดสิทธิบัตร ซึ่งทำได้ทันทีในขณะนี้ เพราะ พ.ร.บ.สิทธิบัตรไทยเปิดโอกาสให้รัฐบาลใช้มาตรการนี้อยู่แล้ว โดยบังคับใช้สิทธิกับยาติดสิทธิบัตรที่จำเป็นต้องใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุข โดยเฉพาะยาเอฟาเวียร์เรนซ์ (Efavirenz) เพื่อให้องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาต้านไวรัสเอดส์สูตรใหม่นอกจากสูตรจีพีโอ-เวียร์ (GPO-vir) ที่มีราคาถูก ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยบางคนแพ้ยาสูตรจีพีโอ-เวียร์ หรือเมื่อใช้ยาสูตรจีพีโอ-เวียร์ ไประยะเวลาหนึ่งประมาณ 2-3 ปี จะมีการดื้อยาต้องเปลี่ยนสูตรยา และการใช้ยาต้านไวรัสเอดส์นั้นต้องใช้ติดต่อกันตลอดชีวิต การหยุดยาทำให้ภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อฯ ลดลงอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดการติดเชื้อฉวยโอกาสที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 51 และมาตรา 46 ให้สอดคล้องกับข้อตกลงทริปส์และการสาธารณสุข (วรรค 6 ของปฏิญญาโดฮา) ขององค์การการค้าโลก ซึ่งได้ผ่านการตกลง ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2546 เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตยาติดสิทธิบัตรยาทุกชนิดที่จำเป็นในการแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ และสามารถส่งออกช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ ซึ่งประเทศแคนาดาได้ดำเนินการหน้าไปแล้วเมื่อ 14 พฤษภาคม 2547

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยต้องไม่ยอมให้นำประเด็นเรื่อง การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องยาเป็นวาระของการเจรจาในการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ(FTA) กับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเนื้อหาข้อเรียกร้องในข้อตกลงเขตการค้าเสรีของสหรัฐและกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในเรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ของบรรษัทยาข้ามชาติโดยตรง เป็นการเรียกร้องให้มี “ทริปส์ผนวก” หรือ TRIPs-Plus ซึ่งเกินกว่าข้อตกลงพหุภาคีทริปส์ในองค์การการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลทำให้ราคายาต้านไวรัสเอดส์ที่ติดสิทธิบัตรและจำเป็นต้องใช้มีราคาสูงมาก ประมาณว่าผู้ป่วยต้องจ่ายค่ายาเป็น 10 เท่าของรายได้ขั้นต่ำ และองค์การเภสัชกรรมก็ไม่สามารถผลิตยาชื่อสามัญราคาถูกได้เพราะยาเหล่านั้นติดสิทธิบัตร
“ข้อเรียกร้อง ทริปส์ผนวก คือ ขยายอายุการผูกขาดตลาดยายาวนานขึ้นกว่าข้อตกลงพหุภาคีทริปส์ โดยสหรัฐ กำหนดขยายอายุสิทธิบัตรยาจาก 20 ปี เป็น 25 ปี ขอผูกขาดตลาดยารูปแบบใหม่ด้วยการผูกขาดข้อมูลผลทดสอบเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์เคมี (Data exclusivity) 5 ปี นอกจากนั้นยังจำกัดการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิและการนำเข้าซ้อน มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการผูกขาดตลาดจากระบบสิทธิบัตรยาที่ระบุในข้อตกลงทริปส์และการสาธารณสุข” แถลงการณ์ระบุ

ผศ.ภญ.สุนทรี กล่าวเพิ่มเติมว่า Data exclusivity คือการคุ้มครองข้อมูลยาที่ยื่นเพื่อขึ้นทะเบียนยาเป็นรายแรก การคุ้มครองหมายถึงการเก็บปกปิดไม่ให้มีการเปิดเผยต่อบุคคลที่ 3 หรือแม้แต่บุคคลที่ 2 คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นผู้พิจารณาทะเบียนตำรับยา ก็ไม่สามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้พิจารณาประเมินการขออนุมัติการขึ้นทะเบียนยาของบริษัทอื่นได้ หากไม่ได้รับการอนุมัติจากบริษัทที่ผลิตยาต้นแบบ (original) ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมาย Data exclusivity เมื่อปี คศ.1984

“ถ้าไม่มีช่วงเวลาผูกขาดข้อมูล ยาชื่อสามัญหรือ generic name หรือยาที่ผลิตภายใต้การบังคับใช้สิทธิ จะออกสู่ตลาดได้ด้วยการวิจัยการทดสอบชีวสมมูลของยาชื่อสามัญ เพื่อควบคุมคุณภาพยา สำหรับการทดสอบชีวสมมูล เป็นการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาสามัญกับยาต้นแบบว่า มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันหรือไม่” ผศ.ภญ.สุนทรี กล่าว

2 comments:

SV said...

30/10/2548
สธ.ป้องกันเอดส์กลายพันธุ์

เมื่อวันที่ 29 ต.ค.48 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมช.สาธารณสุข ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องนโยบายรัฐบาลต่อการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ของประชาชน ในงานเปิดประชุมวิชาการเรื่อง เวทีเอดส์โลกสู่การเข้าถึงยาเอดส์ จัดโดยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กลุ่มศึกษาปัญหายา มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย องค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยี่ยมประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญปัญหาเอดส์มาโดยตลอด เพราะตระหนักดีว่าโรคเอดส์ ไม่ได้ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายผู้ป่วยเท่านั้น แต่ก่อให้เกิดความทุกข์ทางใจ และทางสังคมแก่ผู้ป่วย การให้การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยโรคเอดส์ จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งผู้ทำการรักษา ผู้ป่วย รวมถึงญาติและเพื่อนของผู้ป่วย และคนอื่นๆ ในชุมชน อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 48 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ทั้งส่วนที่เป็นงบประมาณปกติ และงบเพิ่มเติมวงเงิน 1,042 ล้านบาทสนับสนุนให้เกิดการขยายโอกาสการเข้าถึงระบบบริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่ 368,886 ราย และยังได้จัดสรรงบประมาณ 75 ล้านกว่าบาท ซื้อยาต้านไวรัสให้ผู้ป่วยที่มีอาการดื้อยาในสูตรพื้นฐาน คาดว่าจะสามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 1,600 ราย

สำหรับในปีงบประมาณ 49 รัฐบาลได้กำหนดให้การบริการยาและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นสิทธิประโยชน์ส่วนหนึ่งในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งหมายความว่า เป็นสิทธิของผู้ป่วยเอดส์ที่จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างถ้วนหน้า โดยผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ต้องได้รับบริการที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง เนื่องจากการบริการยาต้านไวรัสที่ผ่านมายังมีข้อจำกัด

SV said...

“หมอไร้พรมแดน”เฮรัฐเริ่มมาตราบังคับใช้สิทธิต้านยาแพง
30 พฤศจิกายน 2549
จากการที่รัฐบาลไทยได้ประกาศที่จะบังคับใช้สิทธิโดยรัฐบาลเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาเอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz) นพ.เดวิด วิลสัน ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ขององค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) กล่าวว่า ยาต้านไวรัสที่สำคัญซึ่งปัจจุบันติดสิทธิบัตรทำให้เกิดการผูกขาด และประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาได้ บริษัทเมิร์ค (Merck) ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรไม่สามารถจัดส่งยาเอฟฟาไวเรนซ์อยู่บ่อยครั้ง ส่งผลกระทบกระเทือนกับการรักษาอย่างมาก ทำให้หลายๆโรงพยาบาลต้องให้คนไข้กินยาต้านไวรัสเพียง 2 ตัว แทนที่จะเป็น 3 ตัว และแม้ว่าบริษัทเมิร์คได้ลดราคายาเอฟฟาไวเรนซ์ให้ (ปัจจุบัน ราคาอยู่ที่ 1,500 บาทต่อผู้ป่วยต่อเดือน) แต่ราคายาชื่อสามัญที่ผลิตและขายในอินเดียนั้น มีราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่ง (800 บาทต่อผู้ป่วยต่อเดือน)

นพ.วิลสัน กล่าวเสริมว่า การผลิตยาชื่อสามัญมีความสำคัญอย่างยิ่งกับโครงการการให้ยาต้านไวรัสในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก่อนที่องค์การเภสัชกรรมจะสามารถผลิตยาชื่อสามัญได้นั้น ราคายาต้านไวรัสในประเทศไทยอยู่ที่กว่า 33,000 บาทต่อผู้ป่วยต่อเดือน มีผู้ติดเชื้อที่เข้าถึงการรักษาในขณะนั้นเพียง 3,000 คนเท่านั้น จนกระทั่งปี 2545 รัฐบาลไทยได้ผลิตยาต้านไวรัสสูตรค็อคเทล ทำให้ราคายาลดลง 18 เท่า มีผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษาในปัจจุบันมากถึง 84,000 คน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ องค์การเภสัชกรรมกำลังอยู่ระหว่างการผลิตยาชื่อสามัญของเอฟฟาไวเรนซ์ ซึ่งน่าจะประสบความสำเร็จในปี 2550 ระหว่างนี้ รัฐบาลไทยจะอนุญาตให้กรมควบคุมโรคนำเข้ายาชื่อสามัญของเอฟฟาไวเรนซ์จากประเทศอินเดีย ซึ่งมีราคาถูกกว่ายาชื่อการค้าครึ่งหนึ่ง และเพิ่มช่องทางการจัดซื้อให้มั่นใจถึงการจัดหายามารักษาผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อฯในไทยอย่างยั่งยืน

“ประเทศไทยกำลังแสดงให้เห็นว่า ชีวิตของผู้คนต้องมาก่อนสิทธิบัตรยาของบรรษัท และนโยบายนี้ควรขยายไปถึงยาต้านไวรัสตัวอื่นๆที่มีราคาแพงและขาดแคลนด้วย เช่น โลพินาเวีย/ลิโทนาเวีย (lopinavir/ritonavir) หรือในชื่อการค้า “คาเรทร้า” (Kaletra) ในปัจจุบันราคาอยู่ที่ 7,000 บาทต่อคนต่อเดือนซึ่งถือว่าแพงมากสำหรับประเทศไทย” นพ.วิลสัน กล่าว