เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรด้านยาและเวชภัณฑ์โดยรัฐ กล่าวถึงกรณีกรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศใช้สิทธิบังคับให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตหรือนำเข้ายาต้านไวรัสเอชไอวี “เอฟาไวเรนซ์” ของบริษัทเมอร์คแอนด์โกอิงค์ ทำให้มีราคาถูกกว่ายานำเข้าเพื่อจำหน่ายให้แก่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐบาล
ซึ่งบริษัทผู้ผลิตคือเอ็มเอสดีประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า รัฐควรเจรจาหารือกับเจ้าของสิทธิบัตรก่อน ว่า การดำเนินการของกรมควบคุมโรค เป็นสิทธิตามกฎหมายอยู่แล้ว ที่รัฐไม่จำเป็นต้องหารือหรือเจรจากับเจ้าของผู้ผลิตยาในกรณีที่ประเทศนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาเพื่อช่วยเหลือคนในประเทศ กรณีเช่นนี้ มีตัวอย่างของการดำเนินการมาแล้วหลายประเทศเป็นการทำตามกติกาสากลกล่าวคือ ข้อตกลงทริปส์ (TRIPS) ขององค์การการค้าโลกโดยเฉพาะปฏิญญาทริปส์กับการสาธารณสุขที่ตกลงร่วมกันที่เมืองโดฮา ที่ระบุว่าประเทศสมาชิกสามารถกำหนดเหตุแห่งความจำเป็นที่ต้องทำเช่นนี้ได้เองด้วย รวมทั้งระบุว่า “เอดส์” คือ ภาวะวิกฤติสาธารณสุขภาวะหนึ่งที่ประเทศสมาชิกสามารถบังคับใช้สิทธิเพื่อปกป้องการสาธารณสุขได้ในทันที
เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การที่นำมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร มาใช้โดยกระทรวงสาธารณสุขนั้นได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสรุปว่า หากดำเนินการแล้ว ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.สิทธิบัตร ขณะเดียวกันจะทำให้ผู้ติดเชื้อฯ ได้เข้าถึงยาดังกล่าวอีกจำนวนมากซึ่งในอนาคตอยู่ในระหว่างศึกษายาที่มีราคาสูง แต่ผู้อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำเป็นต้องใช้ เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง ยารักษาโรคหัวใจ เป็นต้น
“ภายใต้ข้อตกลงทริปส์ ประเทศสมาชิกย่อมดำเนินการได้หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาตามสิทธิคนไทยทุกคนจะต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงซึ่งหมายความว่า ยา เป็นสินค้าเชิงคุณธรรม ที่ควรแยกเงื่อนไขต่าง ๆ ออกจากสินค้าทั่วไป สิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพย่อมเหนือกว่าสิทธิบัตรเชิงพาณิชย์ บริษัทผู้ผลิตไม่มีสิทธิจะฟ้องรัฐบาลไทยได้” นพ.สงวน กล่าว
ข่าวจาก เดลินิวส์ 5 ธันวาคม 2549
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment