ผู้จัดการออนไลน์
30 พฤศจิกายน 2549
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวี โวย สธ.ไม่พยายามหารือกับเจ้าของสิทธิบัตรยาก่อนบังคับใช้สิทธิ เรียกร้องให้ทบทวนขั้นตอนการขออนุญาตจากเจ้าของสิทธิบัตรก่อน ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันก่อนออกประกาศบังคับใช้สิทธิ มีการหารือรอบคอบแล้ว
ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มอบให้กรมควบคุมโรค ออกประกาศเรื่องการใช้สิทธิตามมาตรา 51 พ.ร.บ.สิทธิบัตร ผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวี “เอฟฟาไวเรนซ์” เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสาขาของบริษัท เมอร์ค แอนด์ โก อิงค์ เจ้าของสิทธิบัตรยา “เอฟฟาไวเรนซ์” ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า บริษัทตระหนักดีว่า รัฐบาลไทยมีสิทธิในการบังคับใช้สิทธิตามกติกาสากล และกฎหมายของไทย แต่การบังคับใช้สิทธิดังกล่าวควรพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยควรถือเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิบัตร ซึ่งในเบื้องต้นควรมีความพยายามในการหารือกับเจ้าของสิทธิบัตรก่อนว่า สามารถบรรลุข้อตกลงทั้ง 2 ฝ่ายหรือไม่ แต่การประกาศบังคับใช้สิทธิทันทีของกระทรวงสาธารณสุข ยังมิได้ดำเนินการหารือกับบริษัทแต่อย่างใด จึงอยากให้ทบทวนขั้นตอนการขออนุญาตจากเจ้าของสิทธิบัตรก่อน
นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ก่อนออกประกาศดังกล่าวได้มีการหารือกันอย่างรอบคอบ ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็มาร่วมพิจารณา และตนก็ได้ลงนามในหนังสือแจ้งให้เจ้าของสิทธิบัตรทราบ พร้อมทั้งจะจ่ายค่าตอบแทนให้เจ้าของสิทธิบัตร ร้อยละ 0.5 ของยอดจำหน่ายออกจากคลังของ อภ.หากบริษัทจะฟ้องร้องก็เป็นดุลยพินิจที่จะดำเนินการ ส่วนจะชนะหรือแพ้ก็ไปว่ากัน ยืนยันว่า การดำเนินการในครั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายไทย และเพื่อประโยชน์สาธารณะสำหรับผู้ป่วยเอดส์
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า จริงๆ แล้วคนต้นคิดในเรื่องนี้ คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่เนื่องจาก สปชส.มิใช่กระทรวง ทบวง กรม จึงไม่สามารถบังคับใช้สิทธิตามมาตรา 51 ได้ ในตอนแรกจึงเสนอให้ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนาม แต่เมื่อพิจารณาร่วมกันแล้ว กฎหมายกำหนดว่า ให้กระทรวง ทบวง กรม ดำเนินการได้ จึงมอบให้กรมควบคุมโรคเป็นคนออกประกาศดังกล่าว เมื่อถามว่าทางบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรอ้างว่าน่าจะขออนุญาตก่อน นพ.ธวัช กล่าวว่า โดยทั่วไปตนขอถามว่า ถ้ากระทรวงสาธารณสุขต้องการเจรจา จะได้เจรจาหรือไม่ และถ้าเจรจาแล้วจะได้ข้อยุติหรือไม่ ดังนั้น เมื่อกฎหมายไทยให้สามารถทำได้ ก็ต้องดำเนินการ
***************
หมายเหตุ
มาตรา 51 ของ พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2542. อนุญาตให้หน่วยงานของรัฐ สามารถใช้สิทธิตามสิทธิบัตร เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการอันเป็นสาธารณูปโภค หรือการอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ หรือการสงวนรักษา หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม หรือป้องกัน หรือบรรเทาการขาดแคลนอาหาร ยา หรือสิ่งอุปโภค บริโภคอย่างอื่นอย่างรุนแรง หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น
ในการใช้มาตรการนี้ รัฐสามารถดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องมีการเจรจากับผู้ทรงสิทธิบัตรก่อน และภายหลังจากรัฐดำเนินการใช้สิทธิตามมาตรา 51 แล้ว หน่วยงานของรัฐต้องทำหนังสือแจ้งให้ผู้ทรงสิทธิทราบ พร้อมทั้งเจรจาเรื่องค่าตอบแทนในการใช้สิทธิ ซึ่งหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าตอบแทนก็ได้มีตัวอย่างกำหนดไว้ในกฎหมายของประเทศแคนาดา
เมื่อ กลางปี 2547 กลุ่มศึกษาปัญหายา เคยส่ง แถลงการณ์ การจัดหายาต้านไวรัสเอดส์ให้กับผู้ป่วยทุกคน ถึงรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลต้องรีบดำเนินการบังคับใช้สิทธิกับยาที่ติดสิทธิบัตร โดยเฉพาะยาเอฟาเวียร์เรนซ์ (Efavirenz) เพื่อให้องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาสูตรใหม่นอกจากสูตร จีพีโอเวียร์ (GPO-vir) ที่มีราคาถูก ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยบางคนแพ้ยาสูตรจีพีโอเวียร์ หรือเมื่อใช้ยาจีพีโอเวียร์ ไประยะเวลาหนึ่งประมาณ 2-3 ปี จะมีการดื้อยาต้องเปลี่ยนสูตรยา และการใช้ยาต้านไวรัสเอดส์นั้นต้องใช้ติดต่อกันตลอดชีวิต การหยุดยาทำให้ภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อฯลดลงอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดการติดเชื้อฉวยโอกาสที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
และก่อนหน้านั้น ช่วงปลาย ปี 2542 เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และพันธมิตร เคย ยื่นหนังสือถึง รมว. กระทรวงสาธารณสุข (นายนายกร ทัพพะรังสี) เพื่อขอให้กระทรวงฯ ดำเนินการบังคับใช้สิทธิ (CL) จากบริษัท บีเอ็มเอส เพื่อให้องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาดีดีไอ ในสูตรเดียวกันได้ ตามมาตรา 51 ในพระราชบัญญํติสิทธิบัตร เมื่อไม่มีคำตอบ ทางกลุ่ม เครือข่ายฯ จึงได้ทำการฟ้องร้อง ทางกฎหมาย เพื่อยกเลิกสิทธิบัตรยาดีดีไอ ในประเทศไทย
การฟ้องร้องล่วงมาหลายปี ท้ายสุด บริษัท บีเอ็มเอส แถลงต่อศาล ขอคืนสิทธิบัตร 7600 และขอถอนอุทธรณ์ ในคดีแรก ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คดีหมายเลยดำที่ ทป.34/2544 คดีหมายเลขแดงที่ ทป.92/2545 วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2545
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment