Saturday, November 04, 2006

จม ยื่นขอยับยั้งการแก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522

ที่ คอท..............
วันที่ 24 ตุลาคม 2549
เรื่อง ขอให้ยับยั้งการแก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
เรียน นายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
สิ่งที่ส่งมาด้วย เอกสาร วิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร ฉบับที่ .......... พ.ศ. ....... จำนวน 1 หน้า
ตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และได้ส่งร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร ฉบับแก้ไขดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานเพื่อพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานของประชาชน ได้ติดตามสถานการณ์ และมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงการรักษา มาอย่างต่อเนื่อง พบว่า พรบ.สิทธิบัตร ฉบับแก้ไขดังกล่าว มีการปรับปรุงแก้ไขหลักการการคุ้มครองสิทธิบัตร หลายประการที่จะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายให้กับประชาชนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรนั้นๆ ตามที่มีการเผยแพร่อย่างไม่เป็นทางการ เช่นการยกเลิกสิทธิที่จะคัดค้านคำขอสิทธิบัตรที่มีคุณสมบัตรไม่ครบถ้วน ประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะคัดค้านได้ต้องรอ จนกว่าคำขอสิทธิบัตรนั้นจะได้รับการอนุมัติ และต้องยื่นคัดค้านภายใน ๖ เดือน หลังจากที่คำขอสิทธิบัตรนั้นได้ร้บอนุมัติ
จากประสบการณ์การคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรยาคอมบิดของบริษัทแกล็กโซ ซึ่งเป็นคำขอสิทธิบัตรที่มีคุณสมบัติไม่ครบตามคุณสมบัติที่กำหนดใน พรบ.สิทธิบัตร ต้องใช้เวลานานกว่า 5 ปี ซึ่งถ้าเป็นระบบออกสิทธิบัตรก่อนและใช้เวลาไต่สวนนานเช่นนี้ ผลประโยชน์อย่างสมบูรณ์เป็นของเจ้าของสิทธิบัตร ทั้งๆ ที่สิทธิบัตรนั้น อาจเป็นสิทธิบัตรที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตรก็ตาม (ข้อสังเกตการแก้ไขในประเด็นอื่นๆ ตามเอกสารที่ส่งมาพร้อมกันนี้)
นอกจากนี้ ในบางมาตราที่ควรแก้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทางราชการและประชาชน ทางกรมทรัพย์สินฯ กลับไม่ให้ความสนใจ ไม่แก้ไข เช่น การเพิ่มให้หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ กระทรวง ทบวง กรม สามาถใช้ มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อนำสิ่งประดิษฐ์ ที่เหมาะแก่การแก้ปัญหาวิกฤต อย่างในอย่างหนึ่งของประเทศมาผลิตเองโดยรัฐ หรือ รัฐมอบหมายให้บางหน่วยงานผลิต เพื่อนำมาช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหา เช่น การผลิตยาต้านไวรัสสำหรับประชาชนที่ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น
เครือข่ายฯ มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งว่า หากมีการแก้ไขพรบ.สิทธิบัตรในขณะนี้ จะเกิดผลเสียหายต่อประชาชนในระยะยาว โดยเฉพาะ กรณีสิทธิบัตรยา ดังนั้น เครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้
1. ยับยั้งการแก้ไขพรบ.สิทธิบัตร ออกไปก่อน
2. เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอแนะ ประเด็นที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ ตามกรอบแนวคิดการดำเนินงานของท่านนายกรัฐมนตรี
3. ขอให้ เปิดเผย ร่าง พรบ.สิทธิบัตร ฉบับที่ กำลังจะแก้ไข ให้กับสาธารณชนได้ ร่วมพิจารณา ก่อนที่จะผ่านให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณา
หวังอย่างยิ่งว่ารัฐบาล ภายใต้การนำของท่าน จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุข และให้เสียงของประชาชน เป็นส่วนร่วมที่สำคัญในการดำเนินงาน
ขอแสดงความนับถือ
(นายวิรัตน์ ภู่ระหงษ์)
ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย

No comments: