Saturday, November 04, 2006

ความเคลื่อนไหวและการพัฒนาระบบสิทธิบัตรยาในประเทศไทย

ไทยมี พรบ.สิทธิบัตร ฉบับแรก ตั้งแต่ปี 2522 คุ้มครองเฉพาะสิทธิบัตรกรรมวิธีผลิต (Process patent) ไม่ครอบคลุมถึงตัวยาหรือผลิตภัณฑ์ยา (Product patent)
21 สิงหาคม 2528 สมาคมผลิตภัณท์เภสัชกรรม และสมาคมหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (PhRMA) ทำสมุดปกขาว เรียกร้องให้มีการคุ้มครองตัวยาหรือ ผลิตภัณท์ยา
19 มกราคม 2532 อเมริกาประกาศยกเลิก จีเอสพี สิ่งทอ
ในระหว่างปี 2532 รัฐบาลไทยได้ออก “มาตรการชั่วคราว” (Interim measure) เมื่อ วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2532 เพื่อให้การการคุ้มครอง ยาใหม่ (ยาที่ไม่เคยใช้ในประเทศไทย /ไม่ใช่ยาใหม่ที่มีสิทธิบัตรในต่างประเทศ) 2 ปี โดยห้ามให้มีการผลิตยาสามัญ ก่อนแก้ไข พรบ.สิทธิบัตร เพื่อ คลุ้มครอง ตัวยาหรือผลิตภัณฑ์ยาให้ตามการบีบคั้นจากสหรัฐอเมริกาเพื่อแลกเปลี่ยน โควต้า สิ่งทอ
ไทยออกพรบ.สิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผลบังคับใช้ 30 กันยายน พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มการคุ้มครองผลิตภัณฑ์ยา ยืดอายุสิทธิบัตรจาก 15 ปีเป็น 20 ปี และเพิ่มกลไกควบคุมราคายาโดยมีกรรมการสิทธิบัตรยาดูแลราคายาด้วย ( ก่อนกำหนดของข้อตกลงทริปส์ ที่กำหนดให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องมีระบบสิทธิบัตรสมบูรณ์ในปี 2543 ถึง 8 ปี)
31 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ( หลังจากมีข้อตกลงทริปส์ ) สหรัฐฯกดดันไทยขอให้มี การคุ้มครองยาย้อนหลัง (Pipeline Product Protection) คือ ยาใดก็ตามที่มีสิทธิบัตรในประเทศอื่นตั้งแต่ 1 มกราคม 2529 ถึง 30 กันยายน 2534 แต่ยังไม่มีการจำหน่ายในไทย จะได้รับการคุ้มครองสิทธิผูกขาดตลาด โดยมาตรการติดตามความปลอดภัยจากการใช้ยา (Safety Monitoing Program / SMP) เป็นการขึ้นทะเบียนยาอย่างมีเงื่อนไข คือยาใหม่ต้องติดตามความปลอดภัยเป็นเวลา 2 ปี หากไม่เสร็จสิ้นให้ต่อเวลาได้อีก 2 ปี นอกจากนี้ยังให้เวลาอีก 1 ปีสำหรับทำสรุปรายงาน รวมเป็นเวลา 5 ปีที่บริษัทอื่นใดไม่สามารถผลิตยานั้นเพื่อจำหน่ายได้
ไทยออก พรบ.สิทธิบัตร ( ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 แก้ไขตามแรงกดดันของสหรัฐฯ โดย ยกเลิกการมีคณะกรรมการสิทธิบัตรที่ดูแลราคายา
มีการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ครั้งที่ 4 ที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 11-14 พฤศจิกายน 2544 ลงเอยด้วยการรับรอง "ระเบียบวาระของการพัฒนาแห่งเมืองโดฮา" ซึ่งมีสาระครอบคลุมทุกประเด็นที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ส่งเสียงคัดค้านมาตลอด ตั้งแต่ก่อนการประชุมครั้งที่แล้วที่ซีแอตเติล (30 Nov–3 Dec 1999) และเสียงยิ่งดังมากขึ้นในช่วงเตรียมร่างคำประกาศที่กรุงเจนีวา รวมทั้งคำประกาศที่เกียวกับ ทรัพย์สินทางปัญญา ด้านสุขภาพ "Declaration on the TRIPS agreement and public health" (14 November 2001)
ผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกา(USTR) ได้ยื่นหนังสือแจ้งวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการเจรจาการค้า(notification letter) ต่อสภาทั้ง วุฒิสภา และสภาผู้แทนของสหรัฐ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 โดยการเจรจากับฝ่ายไทยจะมีขึ้นอย่างเป็นทางการหลังจากหนังสือแจ้งเจตจำนงได้ส่งต่อสภาทั้งสองเป็นเวลาอย่างน้อย 90 วัน จากการวิเคราะห์จดหมายแจ้งความจำนงซึ่งส่งไปยังสภาชี้ชัดว่าสหรัฐฯ ต้องการให้ไทยเปิดตลาดสินค้าเกษตรกรรม การบริการอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงให้สิทธิพิเศษกับนักลงทุนและนักธุรกิจสหรัฐฯ ในประเทศไทย (ฉบับแปลภาษาไทย)
19 กุมภาพันธ์ 2547 สหรัฐฯ ส่งสัญญาณ เตรียมเปิดเวทีเจรจา ถก “เขตการค้าเสรี” กับไทย มิ.ย. นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีการจะทำเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ ว่า จากการประชุมผู้นำเอเปค เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ที่สหรัฐฯและไทยได้ประกาศว่าจะทำเขตการค้าเสรีระหว่างกัน ซึ่งตามขั้นตอนของสหรัฐฯ ก่อนเริ่มการเจรจา ฝ่ายบริหารจะต้องแจ้งรัฐสภาก่อนและให้เวลาแก่สมาชิกรัฐสภาเป็นเวลา 90 วัน ในการให้ข้อคิดเห็นในประเด็นต่างๆ และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายโรเบิร์ต โซลิค (Mr. Robert Zoellick) หัวหน้าคณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative : USTR) ได้มีหนังสือถึงรัฐสภาสหรัฐฯแสดงเจตจำนงที่จะทำเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA ) กับไทย ซึ่งคาดวจะเริ่มเจรจาได้ในช่วง เดือนมิถุนายน ศกนี้ โดย ประเด็นที่หัวหน้าคณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯให้ความสำคัญที่จะเจรจากับไทย คือ เรื่องการลดภาษีสินค้า การจัดทำกฎแหล่งกำเนิดสินค้า มาตรการด้านสุขอนามัย อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การค้าบริการ การลงทุน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ นโยบายการแข่งขัน สิ่งแวดล้อม แรงงาน เป็นต้น
กระทรวงพาณิชย์จัดประชุมเพื่อกำหนดท่าทีของประเทศไทยในการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
วันที่ 20 เมษายน 47 ระดมความคิดเห็นกลุ่มใหญ่ ณ ห้องกิติยากรวรลักษณ์ (30413)ชั้น4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
วันที่ 21 เมษายน 47 เรื่อง สิทธิบัติยา ณ ห้องประชุมกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชั้น 8
วันที่ 26 เมษายน 47 เรื่องสิทธิบัตรพืช / สัตว์ / การคุ้มครองพันธุ์พืช ณ ห้องประชุมกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชั้น 8
วันที่ 26 เมษายน 47 เรื่องลิขสิทธิ์ ณ ห้องประชุมกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชั้น 8
วันที่ 28 เมษายน 47 เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ณ ห้องประชุมกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชั้น 8
วันที่ 30 เมษายน 47 เรื่องเครื่องหมายการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และโดเมนเนม ณ ห้องประชุมกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชั้น 8
วันที่ 3 พฤษภาคม 47 ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวบรวมประเด็นและจัดทำท่าทีไทย (เชิงรุก/เชิงรุก) ณ ห้องประชุมกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชั้น 8
คณะอนุกรรมการด้านทรัพยากรชีวภาพและทรัพย์สินทางปัญญาจัดงานสัมมนาประเมินสถานการณ์ประจำปีด้านสิทธิกรณีทรัพยากรชีวภาพและทรัพย์สินทางปัญญาเรื่อง "กรณีแก้ไขร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร เพื่ออะไร ใครได้ประโยชน์" ในวันที่ 11 กันยายน 2549 นี้ ที่ห้อง รวยเงิน 2 โรงแรมมารวยการ์เด้น บางเขน กรุงเทพ
12 กันยายน 49 กระทรวงพาณิชย์ส่งร่าง แก้ไขร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร ไปยัง สำนักงานเลขานุการ ครม เพื่อจัดวาระนำเข้า
19 กย คณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตย อันมีประมหากษัตริย์เป็นประมุข ยึดอำนาจ จาก รัฐบาล แก้ไขร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร ถูกส่งกลับกระทรวง
24 ตุลาคม 49 มีข่าวการนำเข้า มาพิจารณาใน รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทยและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานเพื่อพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานของประชาชนมายื่นหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล
เรียกร้องให้มีการยับยั้งการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พรบ.)สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์

รวบรวม โดย ผศ. สุนทรี วิทยานารถไพศาล
5 พย 49

No comments: